ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
main content, press tab to continue
บทความ

WTW ไขปัญหาแนวโน้มการจ้างงานในไทยปี 66: พร้อมชี้แนวทางรักษาคนเก่งสายดิจิทัล อาชีพดาวรุ่งที่คนลาออกมากที่สุด

1 กุมภาพันธ์ 2023

องค์กรในประเทศไทยจำนวนมากเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเสนอค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในตลาดเพื่อการดึงดูดและรักษาพนักงานตำแหน่งงานสำคัญ ๆ ด้านดิจิทัล
Compensation Strategy & Design
N/A

ปี 2566 นี้ ตลาดแรงงานทั่วโลกยังคงเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และองค์กรรวมถึงเจ้าของธุรกิจหลายแห่งก็ยังคงต้องรับมือกับความท้าทายในการเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถและตรงสเปคมาร่วมทีมเพื่อพัฒนาองค์กรให้เติบโตไปด้วยกัน โดยเฉพาะสายงานยอดนิยมในช่วงหลังอย่างสายงานด้านดิจิทัล มาดูกันว่าในปีนี้แนวโน้มการจ้างงานจะเป็นไปในทิศทางไหน และแต่ละองค์กรควรเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

นราพร อินทเชื้อ ผู้อำนวยการฝ่าย Work & Rewards ประจำประเทศไทยและอินโดไชน่า WTW ประเทศไทย หนึ่งในผู้ให้บริการโซลูชันด้านการบริหารคนและองค์กรที่มีฐานข้อมูลครอบคลุมมากที่สุดและเชื่อมโยงกับทุกภูมิภาค เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดแรงงานขาดแคลนบุคลากรในสายงานดิจิทัล อันเป็นผลมาจากการที่องค์กรจำนวนมากกำลังมุ่งหน้าสู่หรืออยู่ระหว่างกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) ตลอดจนการเข้ามามีบทบาทที่มากขึ้นของ AI และระบบอัตโนมัติในการทำงาน

นราพร กล่าวว่า “จากผลสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนของบุคลากรในสายงานด้าน AI และดิจิทัล (Artificial Intelligence and Digital Talent Compensation Survey) ของ WTW พบว่า บริษัทกว่า 97% กำลังประสบปัญหาในการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัลให้มาร่วมงาน และกว่า 96% ประสบปัญหาในการรักษาบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัลให้อยู่กับองค์กรในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับ AI ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล อย่างไรก็ตาม ข่าวดีในวันนี้คือนายจ้างกลุ่มนี้ยังสามารถพลิกเกมได้ด้วยการริเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบค่าตอบแทนององค์กรให้ทัดเทียมหรือเหนือกว่าคู่แข่งในตลาดแรงงาน โดยนำข้อมูลด้านเงินเดือนและสวัสดิการในตลาดแรงงานจากฐานข้อมูลที่ครบถ้วนและเชื่อถือได้มาใช้เป็นตัวช่วยกำหนด”

คาดการณ์ภาพรวมการจ้างงานในปี 2566

จากผลสำรวจ โดย WTW พบว่าในปี 2566 แนวโน้มอัตราการขึ้นเงินเดือนค่าเฉลี่ยของไทยนั้นอยู่ที่ 5% ส่วนอัตราการออกจากงานโดยสมัครใจคือ 10.9% และออกโดยไม่สมัครใจ 4.9% ทั้งนี้ 28% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจมีแผนที่จะปรับเพิ่มจำนวนพนักงานภายในปี 2566 โดยมีตำแหน่งที่ต้องการหลักๆ ได้แก่ งานด้านการขาย งานวิศวกรรม งาน IT และช่างเทคนิค ซึ่งตำแหน่งงาน IT นั้นถือว่าติดอันดับต้นๆ มาแล้วถึง 3 ปีซ้อน

ส่วนงานที่มาแรงและได้ค่าตอบแทนสูงสุดคืองานในสาย Data Science and Business Intelligence นอกจากนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับแนวหน้าของไทยยังได้วิเคราะห์ไว้ว่าอาชีพด้านเทคโนโลยี และDigital Marketing จะเป็นอาชีพที่ติดอันดับดาวรุ่งในปี 2566 เนื่องจากบริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญกับตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลอย่างมาก

ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดก็เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งให้องค์กรต้องปรับตัวไปสู่รูปแบบดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบัน องค์กรต่างๆ ต่างมุ่งเน้นไปที่การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานดิจิทัลให้มี

ประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกว่า 60% ระบุว่าความสามารถในการดึงดูดและรักษาบุคลากรด้านดิจิทัลคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์กรเปลี่ยนผ่านไปสู่ความดิจิทัลได้อย่างราบรื่นมากที่สุด ซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นกว่าเมื่อปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ 42% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกเรื่อยๆ

ก้าวต่อไปของการพิจารณาสวัสดิการ ค่าตอบแทน ให้กับคนทำงานสายดิจิทัล

ขณะนี้คือเวลาที่นายจ้างต้องลุกขึ้นมา “คิดใหม่ทำใหม่” ในการออกแบบแพ็คเกจค่าจ้างและสวัสดิการให้กับลูกจ้าง เนื่องจากปัจจุบัน การดึงดูดและรักษาพนักงานในตำแหน่งงานด้านดิจิทัลถือเป็นความท้าทายสูงสุดสำหรับองค์กรในทุกอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค องค์กรในประเทศไทยจำนวนมากเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเสนอค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในตลาดสำหรับตำแหน่งงานสำคัญๆ เช่น Digital Marketing, Data Scientist และนักพัฒนาแอปพลิเคชัน

ข้อมูลที่ WTW ได้รวบรวมมาจากบุคลากรใน 41 ตำแหน่งเฉพาะทาง จากทั้งหมด 8 กลุ่มงานที่เกี่ยวกับดิจิทัลในกว่า 200 บริษัทในประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันมีจำนวนพนักงานในตำแหน่งงานเฉพาะทางด้านดิจิทัลมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 20% ซึ่งประกอบไปด้วยตำแหน่งเช่น Cloud Computing Engineering, Machine Learning, Full Stack Development และ Technology Product Development – Prototypes and Trials เป็นต้น

นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบว่าอัตราการจ้างบุคลากรในตำแหน่งงานดิจิทัลในเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วจาก 12,937 คนเป็น 16,891 คน หรือคิดเป็น 31% โดยผู้ที่มีประสบการณ์ด้านดิจิทัลแบบพร้อมใช้ ไม่จำเป็นต้องผ่านการอบรมใหม่ จะมีแนวโน้มที่ได้รับเงินเดือนสูงกว่าคนที่จบใหม่ หรือไม่มีประสบการณ์ถึง 39%-42% (ในระดับปฏิบัติการ)

Figure 1: ปัจจัยที่ช่วยดึงดูดผู้ที่มีความสามารถด้าเอไอและดิจิทัล
รูปภาพที่ 1: อัตราการจ้างบุคลากรตำแหน่งงานดิจิทัล

ในด้านของอัตราเงินเดือนในสายงานดิจิทัล แม้จะเป็นตำแหน่งเดียวกัน ในต่างอุตสาหกรรม เงินเดือนก็อาจแตกต่างกัน เช่น Data Scientist ระดับ Manager ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และเกม (Tech, Media and Gaming) ได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไปถึง 15-20% ส่วนบทบาทการทำงานที่องค์กรต่างๆ ขาดแคลนและมองหามากที่สุดในวันนี้ ได้แก่ Blockchain, Agile Development & Team Collaboration และ Data Science and Business Intelligence โดยกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการจ้างงานตำแหน่งเกี่ยวกับดิจิทัลมากที่สุด ได้แก่ เทคโนโลยี สื่อ และเกม (Tech, Media and Gaming) สินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจค้าปลีก (Consumer Products and Retails) และประกันชีวิต (Life Insurance)

องค์กรต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าจะรักษาคนเก่า มองหาคนใหม่ หรือทำควบคู่ทั้งสองทาง

ก่อนจะดำเนินการเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถทางดิจิทัลมาเสริมทัพการทำงาน องค์กรจำเป็นต้องประเมินจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเอง พร้อมกับต้องตอบตนเองให้ได้ว่าแท้จริงแล้วเป้าหมายขององค์กรคืออะไร ระหว่างการดึงดูดพนักงานใหม่ การรักษาพนักงานเก่า หรือทั้งสองอย่าง เพราะแต่ละโจทย์นั้นนำไปสู่การดำเนินการที่แตกต่างกัน เช่น ปัจจัยที่ดึงดูดพนักงานใหม่ได้มากที่สุด คือ เงินเดือน ชื่อเสียงขององค์กร สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี ความน่าสนใจของสินค้าหรือบริการขององค์กร และโอกาสที่บุคลากรนั้นๆ จะได้สร้างผลงานในองค์กร ส่วนปัจจัยที่จะรักษาพนักงานเดิมให้อยู่กับองค์กรได้มากที่สุด คือ เส้นทางการเติบโตและการเลื่อนตำแหน่งที่ชัดเจน เนื้องานที่มีความน่าสนใจ ท้าทาย และหลากหลาย เงินเดือนที่เป็นที่น่าพอใจ และโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

Figure 2: อัตราการจ้างงานตำแหน่งงานด้านดิจิทัล
รูปภาพที่ 2: 10 ปัจจัยสำคัญในการดึงดูดและรักษาพนักงานด้านดิจิทัลให้อยู่กับองค์กร

งานดี เงินดี แล้วทำไมสายดิจิทัลจึงยัง Turnover สูง?

สิ่งที่น่าเซอร์ไพรส์ในข้อมูลที่พบคืออัตราการลาออก (Turnover Rate) ของคนทำงานด้านดิจิทัลกลับสวนทางกับดีมานด์อย่างสิ้นเชิง โดยถือเป็นหนึ่งในตำแหน่งงานที่ครองแชมป์ลาออกมากที่สุด ด้วยอัตราการลาออกที่มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปถึง 9% หรือคิดเป็นเกือบ 20% โดยเฉพาะงานด้าน IT Developer, Digital Marketing และ Online Community Marketing ซึ่งเหตุผลโดยท้ายที่สุดนั้นก็เป็นเพราะองค์กรไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของบุคลากรได้นั่นเอง

ปัจจุบัน สิ่งที่บุคลากรสายดิจิทัลมองหาไม่ได้มีแค่เรื่องของเม็ดเงินค่าตอบแทนที่ดีเท่านั้น แต่องค์กรยังต้องให้ความมั่นใจกับบุคลากรได้ด้วยว่างานที่ทำจะนำพาไปสู่การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และพวกเขาจะมีโอกาสในการพัฒนาทักษะควบคู่ไปกับการทำงาน และรายล้อมไปด้วยคนที่เข้าใจและพร้อมปรับตัวสู่ Digital Transformation ไปด้วยกัน ทั้งนี้ WTW ระบุว่า กลุ่มงานสายดิจิทัลของบริษัทในประเทศไทยมักสูญเสียบุคลากรไปเนื่องจากการแข่งขันแย่งชิงตัวในตลาด โดยตำแหน่งงานที่มีพนักงานลาออกสูงสุด 5 อันดับแรก

ได้แก่ Application Development (Internet/Web Application Development), Data Science และ Business Intelligence, IT Architecture (Systems Design), Digital Marketing, และ Agile / Scrum Master Project / Program Management ด้วยเหตุนี้ องค์กรและนายจ้างยุคปี 2566 จึงจำเป็นต้องตื่นตัวและคอยอัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่กลุ่มบุคลากรสายดิจิทัลมองหาอยู่เสมอ จึงจะสามารถโน้มน้าวให้พวกเขาเข้ามาทำงาน และอยู่กับองค์กรในระยะยาวได้

จะเอาชนะใจคนเก่งได้ ต้องแตกต่างไม่เหมือนใคร

3 ปัญหาหลักที่องค์กรต่างๆ ต้องเผชิญระหว่างการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) คือ ความท้าทายในการสรรหาและรักษากลุ่มพนักงานที่มีความสามารถด้านดิจิทัล ความจำเป็นที่ต้องตั้งงบประมาณการจ่ายในเชิงรุก และการออกแพ็คเกจผลตอบแทนให้สู้กับองค์กรอื่นๆ ได้

ยุคนี้เป็นยุคที่คนเก่งเลือกองค์กร ไม่แพ้องค์กรเลือกคน การขาดแคลนแรงงานในสายดิจิทัลอย่างต่อเนื่องได้บีบคั้นให้องค์กรต่างๆ ต้องปรับตัว พร้อมกับหันมาใช้แนวทางที่แตกต่างไปจากเดิม ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่างๆ จึงจำเป็นต้องสามารถเข้าถึงอินไซต์ที่ชี้ให้เห็นภูมิทัศน์ของตลาดแรงงานด้านดิจิทัลให้ได้ โดยเฉพาะข้อมูลในเรื่องของทักษะที่กำลังมาแรง ทักษะที่มีดีมานด์น้อยลง รวมถึงคุณค่า (Value) และผลตอบแทนที่บุคลากรสายดิจิทัลต้องการ เช่น โอกาสในการ Training พัฒนาศักยภาพกับหลักสูตรชั้นนำ/หน่วยงานชั้นนำ, เวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น/กำหนดเองได้, stock option, โอกาสทำงานในต่างประเทศ

การที่องค์กรยื่นข้อเสนอและสวัสดิการที่ตรงใจและแตกต่างจากคู่แข่ง จะเป็นการส่งสัญญาณไปยังแคนดิเดตว่าองค์กรนั้นตระหนักถึงศักยภาพของพวกเขาอย่างแท้จริงและไม่ได้ใช้สวัสดิการสูตรสำเร็จ หรือที่เรียกกันว่า One-size-fits-all กับพนักงานทุกคน นอกจากนี้ องค์กรต้องไม่ลืมที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลอย่างต่อเนื่อง และใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสมกับแต่ละตำแหน่งงานควบคู่กันไปด้วย

Contact us